คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด

คำสอนเด็ดๆ...ธรรมะจากหลวงปู่ทวด(วัดช้างให้)

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี
ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม
" หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "
คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125
ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี
มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225
สิริรวมอายุได้ 99 ปี

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้น ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ

หลวงพ่อทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็นตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่างๆ พอจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หลวงพ่อทวดคือใคร เกิดในสมัยใดและได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาไว้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นคติเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

ทารกอัศจรรย์

เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้นี้มีนายว่า "ปู"  เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา

เหยียบน้ำทะเลจืด

ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า "ไม้เท้า 3 คด" ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้

เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา "ไม้เท้า 3 คด" พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา


คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด

ธรรมประจำใจ
พูดมาก เสียมาก    พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์


ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ


สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได ้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก


ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย


บรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ


ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา   ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย   แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย


ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น


ยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน   เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ   ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ

อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด   อยู่กันอย่างไม่ยินดี   อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ   เหนือนินทา   เหนือความผิดหวัง   เหนือความสำเร็จ   เหนือรัก   เหนือชัง


ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน   เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส   เสียใจน้อยใจ   เป็นทุกข์


กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์   มีความรื่นเริง


มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน   ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก
คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ


โลกิยะ หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ   ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ   ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก   เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้   พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ   ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง


ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย   พิจารณาธรรมในธรรม   พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


รู้ซึ้ง
ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ   เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล   ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว   เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา


ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย


หยุดพิจารณา
คนเรานี้   ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว   จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น   ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ   ศีล   สมาธิ   ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้


บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ   จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา   การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม


ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี   เราจะทำอะไรก็ดี   จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น   มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน   เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน   เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว   จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก


มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม   เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ   อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง


เตือนมนุษย์
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว    มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีง านทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว    มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก    มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า


พิจารณาตัวเอง
คืนหนึ่งก็ดี   วันหนึ่งก็ดี   ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า   ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง   คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้   มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด   ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด

ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม
ธรรมะของหลวงปู่ทวด   อ่านแล้วส่งต่อ เพื่อเป็นธรรมทาน

2 Response to " คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด "

  1. อนุโมทนาสาธุๆๆค่ะ

    รับรู้แต่ด้านอิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน เพิ่งได้ฟังการถ่ายทอดธรรมะจากพุทธองค์ผ่านท่านนับเป็นบุญของลูก🙏🙏🙏🙇🙇🙇

แสดงความคิดเห็น

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้ สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย .